เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 16. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า หมู่มนุษย์ เป็นชื่อเรียกสัตว์
คำว่า เพ่งพิจารณา ได้แก่ พิจารณา คือ แลเห็น มอง ดู เพ่งพินิจ
พิจารณาดู รวมความว่า เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
คำว่า ปิงคิยะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ1 รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ
คำว่า เกิดความเร่าร้อน ในคำว่า เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
อธิบายว่า เกิดความเร่าร้อนเพราะชาติ เกิดความเร่าร้อนเพราะชรา เกิดความ
เร่าร้อนเพราะพยาธิ เกิดความเร่าร้อนเพราะมรณะ เกิดความเร่าร้อนเพราะโสกะ
ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เกิดความเร่าร้อนเพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดใน
นรก ฯลฯ เกิดความเร่าร้อนเพราะทุกข์คือทิฏฐิวิบัติ คือ เกิดความจัญไร เกิด
อุปัทวะ(อันตราย) เกิดอุปสรรค รวมความว่า เกิดความเร่าร้อน
คำว่า ถูกชราครอบงำแล้ว ได้แก่ ถูกชราถูกต้อง ครอบงำ คือ กลุ้มรุม
ตามประกอบ ไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง
ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า เกิดความเร่าร้อน ถูกชรา
ครอบงำแล้ว
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น เธอมองเห็นโทษแห่งตัณหาอย่างนี้ รวมความว่า ปิงคิยะ เพราะ
ฉะนั้น
คำว่า เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท อธิบายว่า เธอจงมีปกติทำโดยเคารพ ทำ
ติดต่อ ฯลฯ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย2 รวมความว่า ปิงคิยะ เพราะ
ฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/46-48
2 ดูรายละเอียดข้อ 25/139-140

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :331 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 16. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ละตัณหาเสียให้ได้ อธิบายว่า ละตัณหา คือ ละทิ้งตัณหา ละตัณหา
ให้หมด ทำตัณหาให้หมดสิ้นไป ทำให้ตัณหาถึงความไม่มีอีก
คำว่า เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป อธิบายว่า รูปของเธอพึงดับในภพนี้แหละ ฉันใด
ปฏิสนธิภพไม่พึงบังเกิดอีกในกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ
ปัญจโวการภพ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร หรือวัฏฏะต่อไป ได้แก่
ไม่พึงเกิด ไม่พึงเกิดขึ้น ไม่พึงบังเกิด ไม่พึงบังเกิดขึ้น คือ ดับ เข้าไปสงบ
ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในภพนี้เอง รวมความว่า ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะ
ไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิดขึ้น
แก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันมากับพราหมณ์และพราหมณ์นั้นก็ได้เกิดธรรมจักษุไร้ธุลี
ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วน
มีความดับไปเป็นธรรมดา” หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม
และหนวด ของท่านก็หายไป พร้อมกับการได้ธรรมจักษุ ท่านได้เป็นภิกษุมี
ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร เพื่อการปฏิบัติเอื้อประโยชน์
จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้
เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทสที่ 16 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :332 }